Posted on Aug 17,2023   |   
กรมทางหลวง แถลงนโยบายปี 2560 ใน 5 ด้าน เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคมทางบกของประเทศ

 วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 กรมทางหลวง แถลงนโยบายกรมทางหลวงปี 2560 และ ยุทธศาสตร์กรมทางหลวงปี 2560 -2565 โดยมีนโยบายเร่งด่วนใน 5 ด้าน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๕ (ระยะ ๘ ปี) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคมทางบกของประเทศ ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า “ระบบทางหลวงที่เชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย เป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”



นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า นโยบายของกรมทางหลวงจะดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคม ส่งเสริมบทบาทและการอาศัยโอกาสในประชาคมอาเซียนเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน พัฒนาและขยายโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พัฒนาการบริหารจัดการงานก่อสร้างงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ พัฒนาและปรับปรุงทางหลวงที่มีอยู่ในปัจจุบันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานงานอำนวยความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลและติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมของกรมทางหลวงให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีการพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานด้านบุคลากร ความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว เสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร พัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกระดับ นอกจากนี้จะเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมงานทางมาใช้ได้อย่างเหมาะสม อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่ออีกว่า ยุทธศาสตร์กรมทางหลวงปี 2560 – 2565 จะประกอบด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) ค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร และหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินงานระยะยาวของกรมทางหลวง ในส่วนของนโยบายเร่งด่วนของ กรมทางหลวงมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ –๒๕๖๕ (ระยะ ๘ ปี) ใน 5 ด้าน ดังนี้

นโยบายด้านที่ 1 : เร่งพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง
1.1 พัฒนาและขยายโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway)
1.2 พัฒนาโครงข่ายทางหลวง (Highway Network) ที่รองรับระบบโลจิสติกส์ (Logistics)

นโยบายด้านที่ 2 : พัฒนาโครงข่ายทางหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
2.1 พัฒนาแผน ปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงระหว่างประเทศให้มีความพร้อมเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (ASEAN Highway Network) 2.2 การบริหารจัดการงานก่อสร้างงานโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงรองรับประชาคมอาเซียน (ASEAN Highway Network)

นโยบายด้านที่ 3 : พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
3.1 ปรับปรุงการสำรวจและออกแบบสำหรับงานก่อสร้างทาง สะพาน ทางลอด อุโมงค์ทางหลวงให้ทันสมัย ตามมาตรฐานการออกแบบสมัยใหม่
3.2 ปรับปรุงการบริหารงานก่อสร้างทางหลวงทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3 ปรับปรุงการบริหารการบูรณะบำรุงรักษาทางหลวงทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ
3.4 พัฒนางานด้านวิเคราะห์และตรวจสอบ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนางานทางอย่างเป็นระบบ
3.5 ปรับปรุงระบบการบริหารเครื่องมือเครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นโยบายด้านที่ 4 : พัฒนาและดูแลรักษาทางหลวงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล
4.1 พัฒนาระบบสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์และระบบข้อมูลการขนส่ง (Information Transport Systems) มาใช้ในวิศวกรรมงานทาง
4.2 ยกระดับมาตรฐานงานอำนวยความปลอดภัยงานทาง (Road Safety Standard)
4.3 ส่งเสริมการบริหารจัดการการควบคุมน้ำหนักยานพาหนะในระบบโลจิสติกส์และการขนส่งให้มีสมรรถนะสูงขึ้น

นโยบายด้านที่ 5 : พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์การตอบสนองสังคมและสิ่งแวดล้อมตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 5.1 การบริหารจัดการพัฒนาบุคลากรงานทาง (Human Resource Management)
5.2 ติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมของกรมทางหลวง (Cash Flow Management)
5.3 เน้นความโปร่งใสในงานก่อสร้างและงานบำรุง
5.4 พัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน
5.5 พัฒนาระบบสารสนเทศ กรมทางหลวง มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานที่เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และสามารถติดตาม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ซึ่งนโยบายฉบับนี้ยังนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรกรมทางหลวงได้อีกด้วย อีกทั้ง เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคมทางบกของประเทศ และเพื่อให้ผลงานของกรมทางหลวงมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นที่ยอมรับแก่สังคมสืบไป